บทความ >> เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

โรคชอบจุดไฟ(Pyromania)

วันนี้ได้ดูข่าวที่มีการโต้เถียงกันมากถึงที่มาของไฟในบ้านหลังหนึ่ง ที่จู่ๆก็เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ มีผู้คนมากมายพยายามจะหาคำตอบและให้คำตอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งก็คงมีคำตอบที่อธิบายได้และคำตอบที่ไม่สามารถอธิบาย  พอเห็นข่าวทำให้หมอคิดถึงโรคทางจิตเวชโรคหนึ่งที่เจอไม่บ่อย เลยอยากให้ทุกคนได้รู้จักโรคนี้กันซักหน่อย

โรคชอบจุดไฟ (Pyromania)
โรคชอบจุดไฟ (Pyromania) เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ (Impulse Control Disorders)  คนที่เป็นโรคนี้จะมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมแรงขับหรือความต้องการของตนเอง เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มีปัญหาชอบลักขโมยซึ่งจะเจอได้บ่อยกว่าโรคชอบจุดไฟ เมื่อจุดไฟแล้วจะรู้สึกมีความสุข และเหมือนเป็นการได้ปลดปล่อยความเครียดในตัว เมื่อทำแล้วมีความสุขก็จะทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองความต้องการของตนเอง

ลักษณะที่สำคัญของโรคนี้ คือ
1. คนไข้จะคลั่งไคล้และชอบเล่นไฟ โดยจะรู้สึกสนุกและผ่อนคลายเมื่อได้จุดไฟและเห็นไฟ
2. ไม่สามารถต่อต้านไม่ให้จุดไฟได้ และทำไปทั้งๆที่ไม่ได้มีความตั้งใจหรือวางแผนว่าจะทำ  
3. ก่อนจะลงมือจุดไฟ คนไข้มักจะเกิดความตึงเครียดภายในจิตใจมาก่อน มีความตื่นตัวกระวนกระวายเป็นอย่างมาก ต่อเมื่อได้จุดไฟแล้ว ความเครียดก็จะบรรเทา เกิดเป็นความสุข รู้สึกผ่อนคลาย และพึงพอใจ (แต่ในไม่ช้าอาจมีความรู้สึกผิด และละอายตามมา)

**การจุดไฟนี้ทำไปโดยไม่ได้มีเป้าหมายที่แน่ชัด (ไม่ได้ต้องการเงินประกัน ไม่ได้ต้องการให้เกิดความเสียหาย ไม่ได้ต้องการให้มีคนมาสนใจ ฯลฯ) "แค่ทำเพราะอยากทำ"
** ที่มาของการจุดไฟต้องไม่ได้มาจากความคิดหลงผิด (Delusion) หรือ ประสาทหลอน (Hallucination)

จากการศึกษาพบว่าโรคนี้เกิดในเด็กและวัยรุ่น บางครั้งคนไข้อาจจะไม่ได้มาหาหมอด้วยเรื่องว่าตนเองชอบจุดไฟ แต่อาจจะมาด้วยปัญหาถูกไฟลวก ซึ่งเมื่อซักประวัติย้อนกลับไปอาจพบว่าเกิดพฤติกรรมที่ชอบจุดไฟมาหลายครั้ง แต่ผู้ปกครองไม่ได้เห็นว่าเป็นปัญหาคิดว่าเด็กเล่นไฟธรรมดา จะมาพบแพทย์ก็ต่อเมื่อเกิดไฟไหม้ร่างกายแล้ว และจากการศึกษาพบว่าโรคชอบจุดไฟนี้มีความสัมพันธ์กับโรคสมาธิสั้นและการปรับตัวผิดปกติด้วย

ส่วนการรักษานั้นขึ้นอยู่กับอายุด้วย 

ในเด็กและวัยรุ่นจะใช้วิธีการทำจิตบำบัดแบบ Cognitive behavioural theray เพื่อหาสาเหตุของการการปัญหาพฤติกรรม โดยให้เห็นความเชื่อมโยงของความคิดกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ต้องช่วยจัดการปัญหาเมื่อเกิดความเครียด หาวิธีผ่อนคลาย ร่วมกับการสอนพ่อแม่ในการจัดการ การป้องกันการจุดไฟ เช่น ไม่มีอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการจุดไฟไว้ใกล้หรือหยิบจับได้ง่าย เป็นต้น


ผลการรักษาในภาพรวม
 โดยรวมแล้วหลายรายดีขึ้นได้ สามารถต้านทานแรงขับที่อยากจะจุดไฟได้ หลายรายกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ หลายรายก็อาจมีการกลับเป็นซ้ำๆได้เป็นพักๆ และมีอีกหลายรายที่อาการไม่ดีขึ้นและมีการดำเนินโรคแบบเรื้อรังหรือกลายเป็นความผิดปกติทางจิตกลุ่มอื่นๆ

บางคนได้อ่านแล้วอาจจะยังงงๆว่าโรคนี้เป็นอย่างไร ลองไปหา ซีรีย์ CSI NY season9 ตอนที่1,2 มาดูกันนะคะ เผื่อจะได้เห็นภาพของคนไข้กลุ่มนี้มากขึ้น ที่สำคัญช่วยกันดูแลลูกหลานนะคะ การเล่นไฟไม่ใช่เรื่องเล็กนะคะ อย่าประมาทค่ะ
 

อ้างอิงและภาพประกอบจาก http://tvtropes.org/pmwiki/pmwiki.php/Main/PyroManiac
 

Copyright© 2014 HappyFamilyNan.com. All Rights Reserved