บทความ >> เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

มนุษย์เมน

สาวๆ หลายคนอาจจะเคยประสบปัญหาอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายช่วงก่อนมีประจำเดือน บางคนมีอาการหงุดหงิดง่าย ใครพูดอะไรนิดหน่อยฟังดูไม่เข้าหู จะปรี๊ดแตกเลย ช่วงนั้นหนุ่มๆหลายคนอาจจะผวากับอารมณ์ของพวกเธอได้ งั้นวันนี้เรามารู้จักโรคนี้กันค่ะ PMDD(premenstrual dysphoric disorder)

PMDD ส่วนใหญ่จะมีอาการก่อนมีประจำเดือนประมาณ 1 สัปดาห์ เอาง่ายๆ นะคะ ถ้าไม่แน่ใจลองวาดรูปหรือจดบันทึกอารมณ์ของตัวเองใส่ปฏิทินทุกวัน และจะสังเกตุได้ว่า.....เฮ้ย!!!! ช่วง 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือนนี่แหล่ะ อารมณ์ชั้นสวิงสุดๆ หงุดหงิดง่าย ร้องไห้ง่าย แล้วเมื่อไหร่ที่มีประจำเดือน อาการเหล่านี้ก็หายไปโดยพลัน อย่างกับผีดูดเลือดพอเห็นเลือดเท่านั้นแหล่ะ อารมณ์ใจคอดีขึ้นมาเชียว 555

 

อาการของ PMDD นั้นก็จะมีปัญหาเรื่องอารมณ์เป็นหลัก คือ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดง่าย บางคนก็ร้องไห้ง่าย บางครั้งแค่เรื่องนิดเดียว(ซึ่งปกติไม่เคยใส่ใจ)ก็เอามาเป็นเรื่อง น้อยอกน้อยใจกันไป (ไม่เป็นชั้นเธอไม่เข้าใจหรอก......) อาการพวกนี้แหล่ะค่ะที่จะทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ หากฝ่ายชายหรือคนรอบข้างไม่เข้าใจ หรือไม่รู้ว่าตอนนี้เรากะลังจะเป็นมนุษย์เมนอยู่ พวกเค้าก็จะงงๆกันไป ไม่เป็นไรค่ะ ถ้าได้อ่านบทความนี้แล้วคุณอาจจะเข้าใจพวกเค้ามากขึ้น อาจจะลองถามดูนะคะว่า เฮ้ย !!!! ช่วงนี้ใกล้เป็นเมนป่าว ????? แต่ขอเตือนไว้ก่อนนะคะ หากสาวเจ้าไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นจากภาวะก่อนมีประจำเดือน อาจจะโดนเหวี่ยงอีกกระทง อย่าหาว่าหมอไม่เตือนนะคะ (ปล. จากประสบการณ์ตรงค่ะ ) นอกจากอารมณ์ข้างต้นแล้ว ก็จะมีอาการทางด้านอารมณ์อื่นๆ เช่น เบื่อ, ความสนใจสิ่งต่างๆลดลงโดยเฉพาะกับสิ่งที่เคยชื่นชอบหรือสนใจเดิม ไม่ค่อยมีพลัง รู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนแรง มีความวิตกกังวลมาก กินเยอะ กินจุ รู้สึกเศร้า บางคนถึงขั้นมีความคิดอยากฆ่าตัวตายเลยก็มี ไม่ค่อยมีสมาธิ มีปัญหาเรื่องการนอน บางคนก็นอนมากเกิน บางคนก็จะนอนไม่หลับ และอาจมีอาการทางร่างกาย เช่น คัดตึงเต้านม ปวดหัว ปวดตึงกล้ามเนื้อ ปวดข้อ บางคนอาจจะถามว่า แล้วอาการพวกนี้ต่างจากอาการก่อนมีประจำเดือน( premenstrual syndrome : PMS) ทั่วๆไปอย่างไร คำตอบก็คือ PMDD จะมีอาการที่รุนแรงกว่า PMS โดยเฉพาะอาการทางด้านอารมณ์ที่รุนแรง

 

ส่วนสาเหตุนั้น ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ แต่เชื่อว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป และพบว่าผู้หญิงที่เป็น PMDDจะมีความวิตกกังวล มีภาวะอารมณ์ซึมเศร้ารุนแรง หรือ มีภาวะด้านอารมณ์ตามฤดูกาล ส่วนปัจจัยอื่นๆที่คิดว่าอาจจะมีผลต่อการเกิด PMDD ได้แก่ การดื่มสุรา , การดื่มกาแฟปริมาณมาก , ภาวะอ้วน ,ไม่ออกกำลังกาย และมีประวัติมารดาป่วยเป็นโรคนี้มาก่อน

 

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็น PMDD ต้องบอกเลยว่าได้จากประวัติเป็นหลักค่ะ ยังไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จะวินิจฉัยได้ค่ะ อย่างที่บอกข้างต้นว่า ลองทำปฏิทินอารมณ์เราดูก็จะพอบอกได้ค่ะว่าเรามีอาการดังที่กล่าวมาหรือไม่ ลองดูนะคะ กับอีกอันคือจากคนรอบข้างค่ะ คนรอบตัวเราอาจจะสังเกตุอารมณ์มูดดี้ของเราได้ง่ายกว่าตัวเราก็ได้นะคะ บางครั้งเหวี่ยงวีนไปโดยไม่รู้ตัว คนรอบข้างก็จะเป็นตัวช่วยหนึ่งของเราได้่ค่ะว่า แหมมม....ก่อนมีประจำเดือนนี่ ต้องระวังตัว ไว้ดีดี 555

 

แล้วมีการรักษาอย่างไรบ้าง แน่นอนค่ะ หากเราทำปฏิทินอารมณ์ เราจะก็จะพอรู้ตัวค่ะ คำว่ารู้ตัวนี่แหล่ะคะสำคัญที่สุด เนื่องจากพอใกล้จะมีประจำเดือนเราจะเริ่มสังเกตตัวเองมากขึ้น ว่าช่วงนี้หงุดหงิดขึ้นมากมั้ย  จากเดิมที่เราไม่เคยรู้เลยว่ามนุษย์เมนอย่างเราต้องเผชิญปัญหานี้ ก็อาจจะมัวแต่โทษนั่นโทษนี่ โดยเฉพาะโทษคนใกล้ๆ ตัวนั่นแหล่ะ (รับกรรมไป) เมื่อเรารู้ตัวเราจะเริ่มจัดการอารมณ์ตัวเองได้เองค่ะ แต่ถ้าหากรู้ตัวแล้วก็ยังไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ ยังเหวี่ยงวีนอยู่มาก ก็อาจจะต้องพบแพทย์เพื่อให้ยาช่วยรักษาค่ะ นอกจากนี้อาจจะต้องมีการปรับพฤติกรรมของตนเองค่ะ เช่น การกินอาหารที่มีประโยชน์เช่นผัก ผลไม้ ลดกาแฟ ลดแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหากมีปัญหาเรื่องการนอน อาจจะต้องปรับพฤติกรรมการนอน เช่น ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการนอน ลดเสียงกวน ลดการออกกำลังกายก่อนนอน งดการกินอาหารมื้อหนักก่อนนอน เป็นต้น

 

มนุษย์เมนอย่างเราจะไม่น่ากลัวอีกต่อไป หากเรารู้และเข้าใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินการออกกำลังกายค่ะ สู้ๆ นะคะ มนุษย์เมนทั้งหลายย

BY : เด็กเอ๋ยเด็กน้อย

รูปภาพ จากอินเตอร์เน็ต

Copyright© 2014 HappyFamilyNan.com. All Rights Reserved