บทความ >> เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

นอนไม่หลับ

   ความผิดปกติของการนอน ที่พบบ่อยสุดคือ  อาการนอนไม่หลับ หลับลำบากหรือหลับไม่สนิท ซึ่งพบมากในผู้หญิงและผู้สูงอายุ

          ถ้าคุณประสบปัญหาจากโรคนอน ไม่หลับ จะรู้ว่าการนอนไม่หลับมี ผลกระทบกับคุณในช่วงกลางวันและกลางคืน ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียในระหว่างวัน  ส่งผลต่อการงาน ความสามารถทั่วไป ขาดงาน บ่อยๆ และประสิทธิภาพในการทำงานลดลง  มีโอกาสหันเข้าหาสุรา ยาเสพติด มีปัญหา ทางด้านอารมณ์และจิตใจ ตึงเครียด กังวล อารมณ์เศร้าและเปล่าเปลี่ยวใจ มีแนวคิดที่จะฆ่าตัวตายสูง

          ลักษณะอาการที่บ่งบอกว่า นอนไม่หลับคือ กว่าจะหลับได้อาจใช้เวลาเป็นชั่วโมง,  หลับไม่ทน หลับได้ไม่นานก็จะตื่น บางคน อาจไม่หลับอีกตลอดคืน, หลับๆ ตื่นๆ อาจจะมีความรู้สึกคล้ายไม่ได้หลับเลยทั้งคืน เพียงแต่เคลิ้มๆ ไปเป็นพักๆ

          ทางการแพทย์แบ่งประเภทของอาการนอนไม่หลับได้ 3 ประเภท คือ

          1. การนอนไม่หลับแบบชั่วคราว คือ การนอนไม่หลับติดต่อกันหลายวัน แต่ไม่ถึงหลายสัปดาห์ ส่วนมากแล้วมักจะเกิดมาจากความเครียด ความกังวลใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น เสียงดัง  ส่วนใหญ่แล้วอาการจะดีขึ้นเองในไม่กี่วัน

          2. การนอนไม่หลับแบบระยะต่อเนื่อง เป็นเวลาหลายสัปดาห์ อาจเกิดจากปัญหา ด้านสุขภาพหรือแม้แต่เครียดมากๆ ต่อปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ คนที่มีอาการเหล่านี้จำเป็นต้องเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื้อรัง

          3. การนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง คนกลุ่มนี้จะ นอนไม่หลับต่อเนื่องเกือบทุกคืน ติดต่อกันหลายเดือน นานจนอาจเป็นปี สาเหตุนั้น จะซับซ้อนมากขึ้น บางกรณีอาจมาจากความ ผิดปกติทางร่างกาย เช่น การหายใจผิดปกติขณะหลับ กล้ามเนื้อขากระตุกเป็นพักๆ ระหว่างนอน อาการปวดต่างๆ ตลอดจน ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคปอดหรือโรคกรดไหลย้อน เป็นต้น

/data/content/25490/cms/e_dkopqruvw124.jpg

          กุญแจสู่การหลับอย่างเป็นสุขโดยไม่ต้องใช้ยา บางคนโดยธรรมชาติการนอนหลับน้อยกว่าคนอื่นๆ และต้องเลิกคิดว่าทุกคนต้องการนอนหลับ 8 ชั่วโมงเท่านั้น การรับคำปรึกษาสามารถช่วยได้เมื่อเป็นโรคนอนไม่หลับที่เกิดจากสุขลักษณะการ นอนที่ผิด ในบางรายอาจแนะนำการรักษาด้วยยาหรือการประเมินอาการที่ศูนย์รักษาโรคจากการ นอนหลับ คนนอนไม่หลับมักจะอยู่บนเตียงเป็น เวลานานเพื่อหวังว่าจะนอนหลับได้นาน  แต่จากการศึกษาพบว่าการนอนอยู่บนเตียง เป็นเวลานาน จะเพิ่มความกดดันและวิตกกังวลให้กับตัวเอง ตอกย้ำให้นอนไม่หลับยิ่งขึ้น ไปอีก กลายเป็นวงจรติดต่อกันไป 

          ฉะนั้น ลดเวลาที่ใช้บนเตียงจะช่วยให้การหลับมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยลุกออกจากที่นอน มาทำกิจกรรมอื่น เช่น อ่านหนังสือ ดูทีวี ควรเลือกรายการที่ไม่ตื่นเต้นมากเกินไป  ฟังเพลงสบายๆ เช่น เพลงบรรเลง นั่งสมาธิ กระทั่งคิดว่าง่วงจึงกลับไปนอน รักษาเวลาตื่นนอนให้สม่ำเสมอทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นวันทำงานหรือวันหยุด จะช่วยให้วงจรการหลับ-การตื่นเข้าที่ ไม่เสียสมดุล  ซึ่งจะช่วยให้การนอนในคืนต่อๆ ไปดีขึ้น 

          นอกจากนี้หลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงกลางวัน ถ้าไม่สามารถห้ามตัวเองไม่ให้งีบ  ก็สามารถงีบไม่เกิน 1 ครั้ง และไม่เกิน 1 ชั่วโมง ไม่ควรงีบหลัง 15.00 น. ควรอดทนรอให้ถึงเวลาเข้านอน เพราะการงีบจะทำให้ร่างกายรู้สึกว่าได้รับการพักผ่อนแล้ว กลางคืนจะยิ่งหลับยากมากขึ้น

/data/content/25490/cms/e_chjkorst2348.jpg

          การออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน จะช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น มีผลงานวิจัยมากมายที่ยืนยันว่า การออกกำลังกายทุกวันอย่างน้อยครั้งละ 20-30 นาทีหรืออย่างน้อย  3 ครั้งต่อสัปดาห์ สามารถช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรออกกำลังกายหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน ควรออกกำลังกายให้ห่างจากช่วงเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมงเพราะการออกกำลังกายใกล้ช่วงเข้านอน มากเกินไปจะยิ่งทำให้ร่างกายตื่นตัว คุณภาพการนอนไม่ดี

          หลังจากพยายามทุกหนทางแล้วก็ยังมีปัญหากับการนอน ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามคำแนะนำข้างต้น การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการนอน ทั้งเครื่องนอนที่เหมาะสม อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีเสียงอื่นดังรบกวนหรือมีแสงไฟจ้า หากคุณตัดสินใจที่จะใช้ยารักษาโรคนอนไม่หลับ  ควรรู้ว่ายานอนหลับสามารถใช้ได้กับคนที่มีอาการนอนไม่หลับแบบชั่วคราว หรือเพิ่งมีอาการไม่นาน ระยะไม่เกิน 1 เดือน จะช่วยทำให้หลับได้ดี และมีอาการดีขึ้นเร็ว แต่ไม่ควรใช้ยานอนหลับต่อเนื่อง เพราะอาจทำให้ติดยาจนนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้

          อาการนอนไม่หลับที่ควรพบแพทย์

          1. นอนไม่หลับมานาน 1-2 สัปดาห์ หรือมากกว่า โดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน

          2. รู้สึกง่วง อ่อนเพลีย จนไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในตอนกลางวัน และม่อยหลับบ่อยครั้งในระหว่างวัน
          3. สงสัยว่าเป็นโรคบางอย่างแฝงอยู่ เช่น ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล

 

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Copyright© 2014 HappyFamilyNan.com. All Rights Reserved