บทความ >> เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

ภาวะซึมเศร้า เราช่วยได้

ปัญหาการฆ่าตัวตายหรือการทำร้ายร่างกายมักเกิดขึ้นบ่อยๆในสังคม ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าสลดใจ หลายคนมองว่าเป็นเพราะปัญหาที่รุมเร้า แต่แท้ จริงแล้วอาจเกิดจากอาการซึมเศร้า ซึ่งถูกมองข้ามไป หากในสังคมมีผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่เป็นจำนวนมากนับเป็นเรื่องที่น่า ห่วงหากคนเหล่านั้นไม่ได้รับการรักษา

          โรคซึมเศร้าถือเป็นโรคทางด้านจิตเวชที่พบมากเป็นอันดับต้นๆของเมืองไทย เกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือ ปัจจัยทางชีวภาพหรือพันธุกรรม และปัจจัยด้านจิตใจหรือสิ่งแวดล้อม

          ปัจจัยทางชีวภาพหรือพันธุกรรม เนื่องจากมีการเปลี่ยน แปลงของเคมีในสมอง เช่น ความผันผวนของระดับฮอร์โมนที่สำคัญ สืบทอดจากพ่อแม่สู่ลูก

          ส่วนปัจจัยด้านจิตใจหรือสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่าปัจจัยทางอารมณ์ เป็นผลมาจากสถานการณ์ ความตึงเครียดทางอารมณ์ เช่น หากเป็นภาวะซึมเศร้าในวัยเด็ก อาจมีสาเหตุจากความตึงเครียดในครอบครัว เหตุการณ์สะเทือน ใจอย่างรุนแรง, ภาวะซึมเศร้าในโรคประสาท ซึ่งอาจพบร่องรอยว่าถูกบีบคั้นอย่างมากในวัยเด็ก แล้วปะทุออกมาในช่วงชีวิตภายหลัง, ภาวะซึมเศร้าเพราะความชรา เกิดเพราะความสามารถในการปรับตัวลดน้อยลง มีชีวิตโดดเดี่ยว ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย หรือปัญหาที่เรียกกันว่าภาวะสะเทือนใจหลังเกษียณ (สูญเสียคุณค่าในตน ไม่มีงาน มีความรู้สึกว่าไร้สมรรถภาพ)

          นอกจากนี้ยังรวมไปถึงภาวะซึมเศร้าจากปฏิกิริยาทางใจ เช่น อาการซึมเศร้าหลังจากคู่แต่งงานเสียชีวิต ตกงาน หย่าร้าง ภาวะซึมเศร้าเพราะสภาพจิตใจอ่อนล้า เป็นการตอบสนอง ทางใจต่อสภาวะความเครียดเรื้อรัง เช่น ชีวิตสมรสมีปัญหาขัดแย้งไม่รู้จบ ความกดดันจากงานที่ต้องรับผิดชอบ การเปลี่ยน งาน ภาระมากเกินไป ภาวะซึมเศร้าชนิดนี้มักเกิดในหญิงซึ่งต้องรับภาระทั้งในครอบครัวและทำงานนอก บ้าน และในชายที่อยู่ในช่วงอายุ 50-60 ปี ซึ่งถูกกดดันจากการไม่อาจขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพการงานของตนได้

/data/content/25594/cms/e_cdfhksvx3689.jpg          เมื่อคนในครอบครัวหรือใกล้ชิดเข้าข่ายซึมเศร้า หลักการสังเกตง่ายๆ ควรสังเกตพฤติกรรมดังต่อไปนี้

          1. พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางความคิด คือมักจะมีความคิดไปในทาง Negative Thinking หรือความคิดที่เป็นด้านลบตลอดเวลา มักจะรู้สึกสิ้นหวัง มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกผิด รู้สึกตัวเองไร้ค่าไม่มีความหมาย และคิดว่าไม่มีทางเยียวยาได้ ในที่สุดก็จะคิดทำร้ายตัวเอง คิดถึงแต่เรื่องความตาย และพยายามที่จะฆ่าตัวตาย

          2. พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเรียนรู้หรือการทำงาน มักไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความสนุก งานอดิเรก หรือกิจกรรมที่เพิ่มความสนุก รวมทั้งกิจกรรมทางเพศ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีพลัง การทำงานช้าลง การงานแย่ลง ไม่มีสมาธิ ความจำเสื่อม การตัดสินใจแย่ลง

          3. พฤติกรรมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ คือ มักจะมีความรู้สึกซึมเศร้า กังวลอยู่ตลอดเวลา มักหงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่าย อยู่ไม่สุข กระวนกระวาย เป็นต้น

          4. พฤติกรรมที่เปลี่ยน แปลงไปอย่างเด่นชัด เช่น นอนไม่หลับ ตื่นเร็ว หรือบางรายหลับมากเกินไป บางคนเบื่ออาหารทำให้น้ำหนักลด บางคนรับประทานอาหารมากทำให้น้ำหนักเพิ่ม มีอาการทางกายรักษาด้วยยาธรรมดาไม่หาย เช่น อาการปวดศีรษะ แน่นท้อง ปวดเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นแย่ลง

          ต้องลองตรวจสอบตัวเองและคนใกล้ชิดว่ามีใครเป็นโรคซึมเศร้าบ้างในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หากพบว่า มีอาการดังกล่าวอย่างน้อย 4 ข้อ ต้องพยายามระมัดระวังความคิด และพยายามดึงตัวเองออกมาจากภาวะนั้นให้ได้

          พยายามเตือนตัวเองให้มีสติอยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่ที่ทำให้รู้สึกไม่ดีหรือเปล่า หากรู้ตัวว่าไม่สามารถหยุดความคิดได้ หรือยิ่งรู้สึกสิ้นหวังแบบรุนแรงจนรู้สึกหมดซึ่งหนทางที่อยากจะใช้ชีวิตต่อ ไป ต้องรวบรวมกำลังใจเพื่อให้โอกาสตัวเอง โดยการหาทางระบายความคิดและความรู้สึกของตัวเองออกมา แต่การให้โอกาสที่ดีกับตัวเองต้องพยายามเปิดใจหาผู้ที่ท่านมั่นใจว่าช่วย เหลือท่านได้จริงๆ หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดย ตรงเพื่อความปลอดภัยจากภาวะซึมเศร้าที่เป็นอยู่ ณ ขณะนั้นให้ได้

/data/content/25594/cms/e_dinoquxyz249.jpg

          ข้อแนะนำในการปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า

          1. อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงานและการปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป หรือรับผิดชอบมาก เกินไป

          2. แยกแยะปัญหาใหญ่ๆให้เป็นส่วนย่อยๆ พร้อมทั้งจัดเรียงความสำคัญก่อนหลังและลงมือทำเท่าที่สามารถทำได้

          3. อย่าพยายามบังคับตนเอง หรือตั้งเป้ากับตนเองให้สูงเกินไป เพราะอาจไปเพิ่มความรู้สึกล้มเหลวในภายหลัง

          4. พยายามทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับบุคคลอื่นดีกว่าอยู่เพียงลำพัง

          5. เลือกทำกิจกรรมที่จะสร้างความรู้สึกที่ดีขึ้น หรือเพลิด เพลินและไม่หนักเกินไป เช่น การออกกำลังกายเบาๆ การชมภาพยนตร์ การร่วมทำกิจกรรมทางสังคม

          6. อย่าตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตมากๆ เช่น การลาออกจากงาน การแต่งงาน หรือการหย่าร้าง โดยไม่ได้ปรึกษาผู้ใกล้ชิดที่รู้จักผู้ป่วยดี และต้องเป็นบุคคลที่สามารถพิจารณาเหตุการณ์นั้นอย่างเที่ยงตรง มีความเป็นกลาง และ ปราศจากอคติที่เกิดจากอารมณ์มาบดบังถ้าเป็นไปได้ และที่ดีที่สุดคือ เลื่อนการตัดสินใจออกไปจนกว่าภาวะโรคซึมเศร้าจะหายไปหรือดีขึ้นมากแล้ว

          7. ไม่ควรตำหนิหรือลง โทษตนเองที่ไม่สามารถทำได้อย่างที่ต้องการ เพราะไม่ใช่ความผิดของผู้ป่วย ควรทำเท่าที่ตนเองทำได้

          8. อย่ายอมรับว่าความคิดในแง่ร้ายที่เกิดขึ้นในภาวะซึมเศร้าเป็นส่วนหนึ่งที่ แท้จริงของตนเอง เพราะโดยแท้จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของโรคหรือความเจ็บป่วย และสามารถหายไปได้เมื่อรักษา

          9. ในขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลายเป็นคนที่ต้องการความ ช่วยเหลือจากบุคคลอื่น ก็อาจมีบุคคลรอบตัวๆที่ไม่เข้าใจในความ เจ็บป่วยของผู้ป่วย และอาจสนอง ตอบในทางตรงกันข้าม กลายเป็นการซ้ำเติมโดยไม่ได้ตั้งใจ

          "เตือนตัวเองให้มีสติอยู่ตลอดว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่ หากรู้ตัวว่าไม่สามารถหยุดความคิดได้ หรือยิ่งรู้สึกสิ้นหวังแบบรุนแรง ต้องรวบรวมกำลังใจเพื่อให้โอกาสตัวเอง  โดยการหาทางระบายความคิดและความรู้สึกออกมา"

 

 

          ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุข  โดย นพ.พิชัย อิฏฐสกุล

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Copyright© 2014 HappyFamilyNan.com. All Rights Reserved