บทความ >> สำหรับพ่อแม่

คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองและครูที่ดูแลเด็กสมาธิสั้น

คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองเด็กสมาธิสั้น

  1. จัดสิ่งแวดล้อมในบ้านและกิจวัตรประจำวันให้เป็นระเบียบแบบแผน
  2. จัดหาบริเวณที่สงบและไม่มีสิ่งรบกวนสมาธิสำหรับให้เด็กทำการบ้าน
  3. แบ่งงานที่มากให้เด็กทำทีละน้อย และคอยกำกับให้ทำจนเสร็จ
  4. ควรพูดหรือสั่งงานในขณะที่เด็กพร้อมที่จะฟัง เช่น อาจรอจังหวะที่เหมาะสม หรือบอกให้เด็กตั้งใจฟัง
  5. บอกเด็กล่วงหน้าถึงสิ่งที่ต้องการให้ปฏิบัติและชื่นชมทันทีเมื่อเด็กทำได้ หากเด็กยังทำไม่ได้อาจวางเฉยโดยไม่ตำหนิ หรือประคับประคอง ช่วยเด็กให้ทำได้สำเร็จถ้าเป็นเรื่องที่สำคัญ
  6. เมื่อเด็กมีพฤติกรรมก่อกวนที่เป็นจากอาการของโรคสมาธิสั้น ควรใช้วิธีที่นุ่มนวลหยุดพฤติกรรมนั้น หรือเบนความสนใจ ให้เด็กทำกิจกรรมอื่นแทน
  7. หากเด็กทำผิด ควรใช้ท่าทีที่เอาจริงและสงบในการจัดการ เช่น อาจใช้การแยกเด็กให้อยู่ในมุมสงบตามลำพังชั่วคราว หรือลงโทษด้วยวิธี ที่ไม่รุนแรงและเป็นไปตามข้อตกลง เช่น ลดเวลาดูโทรทัศน์ เป็นต้น
  8. ให้เด็กมีโอกาสใช้พลังงานและการไม่ชอบอยู่นิ่งให้เป็นประโยชน์ เช่น ให้ช่วยงานบ้านที่สามารถทำได้
  9. ผู้ปกครองควรเป็นตัวอย่างที่ดีและช่วยฝึกเด็กให้มีวินัย อดทนรอคอย บริหารเวลาและจัดระเบียบในการทำกิจกรรมต่างๆ
  10. ติดต่อและประสานงานกับครูอย่างสม่ำเสมอในการช่วยเหลือเด็ก ด้านการเรียนและการปรับตัวในโรงเรียน

 

 

 

คำแนะนำสำหรับครูที่ดูแลเด็กสมาธิสั้น

  1. ให้เด็กนั่งหน้าชั้นใกล้ครูเพื่อจะได้คอยกำกับให้เด็กมีความตั้งใจในการทำงานที่ดีขึ้น ไม่ควรให้เด็กนั่งหลังห้องหรือใกล้ประตูหน้าต่าง ซึ่งจะมีโอกาส ถูกกระตุ้นให้เสียสมาธิได้ง่าย
  2. วางกฏระเบียบ และตารางกิจกรรมต่างๆ ของห้องเรียนให้ชัดเจน
  3. ช่วยดูแลให้เด็กทำงานเสร็จ และคอยตรวจสมุดเพื่อให้แน่ใจว่า เด็กจดงานได้ครบถ้วน
  4. ฝึกการจัดระเบียบ วางแผน แบ่งเวลาในการทำงาน และตรวจทบทวนผลงาน
  5. ให้การชื่นชมทันทีที่เด็กตั้งใจทำงาน หรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์
  6. เมื่อเด็กเบื่อหน่ายหรือเริ่มหมดสมาธิ ควรหาวิธีเตือนหรือเรียกให้เด็ก กลับมาสนใจบทเรียนโดยไม่ทำให้เด็กเสียหน้า
  7. เมื่อเด็กมีพฤติกรรมก่อกวนอาจใช้วิธีพูดเตือนเบนความสนใจให้ทำกิจกรรม อื่น หรือแยกให้อยู่สงบตามลำพังประมาณ 5 นาที ควรหลีกเลี่ยงการตำหนิ ดุว่า หรือลงโทษรุนแรง ซึ่งจะเป็นการเร้าให้เด็กเสียการควบคุมตัวเองมากขึ้น
  8. ช่วยเหลือเป็นพิเศษทางด้านการเรียน เช่น การสอนเสริมแบบตัวต่อตัว หรือกลุ่มเล็กๆ ในรายที่มีความบกพร่องในทักษะด้านการเรียน
  9. มองหาจุดดีของเด็ก สนับสนุนให้เด็กได้แสดงความสามารถ และช่วยให้เพื่อนยอมรับ
  10. ติดต่อกับผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอเพื่อวางแผนร่วมกันในการช่วยเหลือเด็ก

Copyright© 2014 HappyFamilyNan.com. All Rights Reserved