บทความ >> สำหรับพ่อแม่

เด็กพูดช้า ตอนที่ 2

ข้อควรปฏิบัติที่จะช่วยให้เด็กพูดได้เหมาะสมตามวัย มีข้อควรปฏิบัติดังนี้

1. พยายามพูดกับเด็กเกี่ยวกับส่ิงที่เด็กกำลังมองหรือกำลังกระทำอยู่ เช่น ถ้าเห็นว่าเด็กกำลังมองดูลูกโป่ง ควรพูดกับเด็กทันที อย่างช้าๆ ออกเสียงให้ชัดเจนว่า " ลูก - โป่ง" "ลูก - โป่ง- ลอย- ได้" เพื่อเป็นกการสร้างเป้าหมายในการมองอย่างมีความหมาย โดยอย่าเพิ่งหวังว่าเด็กจะพูดได้ในทันที เด็กจะต้องรับรู้จดจำ และเรียนรู้ก่อนหลายๆ ครั้ง จึงจะเริ่มออกเสียงตามได้อย่างถูกต้อง

2. ขณะที่มีเสียงหนึ่งเสียงใดเกิดขึ้นรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเสียงคน สัตว์ สิ่งของ เช่น เสียงคนพูด เสียงหมาเห่า หรือเสียงเครื่องบิน ควรชี้ชวนให้เด็กสนใจฟังอย่างสม่ำเสมอ พูดเลียนแบบเสียงที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการสร้างเป้าหมายการฟังให้มีความหมาย รับรู้เข้าใจลักษณะเฉพาะของเสียงต่างๆ มากขึ้น

3. ขณะที่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้กับเด็ก จงพูดให้เด็กฟังถึงสิ่งที่ท่านกำลังทำอยู่ เช่น ขณะที่กำลังใส่เสื้อกางเกงให้กับเด็ก ควรสอนให้เด็กเรียนรู้ว่าสิ่งต่างๆ มีชื่อเรียก โดยการพูดบรรยายกิจกรรมต่างๆ ที่กระทำอยู่ เพื่อให้เด็กเรียนรู้คำศัพท์ (เสื้อ กางเกง) และเนื้อหาของคำศัพท์ (กริยา​-ใส่) ซึ่งเป็นการสร้างการเรียนรู้ความหมายจากการปฏิบัติที่เห็นจริง

4. ควรสอนให้เด็กเข้าใจ ก่อนสอนพูด ในการสอนคำศัพท์ต่างๆ พึงระลึกไว้ว่า ความเข้าใจต้องมาก่อนเสมอ เราจะทราบว่าเด็กเข้าใจคำศัพท์ที่เราสอนจากการสังเกตว่า เด็กมองดู ชี้ หยิบ หรือแสดงท่าทางตามที่บอกได้ จากนั้นจึงสอนให้พูดคำศัพท์นั้นๆ 

5. การสอนเด็กพูดควรใช้คำนามที่มองเห็นเป็นรูปธรรม จดจำได้ง่าย คุ้นเคย และอยู่ใกล้ตัวเด็ก สอนเรียกชื่อ คน สัตว์ สิ่งของ จะทำให้เด็กรับรู้ เข้าใจ และเรียนรู้ได้ดี เช่น เริ่มสอนเรียก แม่ พ่อ สอนให้เด็กเรียกชื่ออวัยวะต่างๆ พร้อมทั้งจับมือเด็กไปแตะส่วนนั้นๆ ต่อมาจึงสอนให้พูดคำกริยาง่ายๆ พร้อมกับสอนให้เด็กปฏิบัติตามไปด้วย โดยคำพูดที่พูดกับเด็กควรใช้คำสั้นๆ ง่ายๆ เช่น ไป เก็บ ใส่ หยิบ เปิด เป็นต้น เพื่อให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจความหมายของคำนั้นจริงๆ  ขณะที่พูดกับเด็กหรือขณะที่ฟังเด็กพูด ควรสบตากับเด็กเพื่อให้เด็กมองเห็นการเคลื่อนไหวของริมฝีปาก การแสดงสีหน้า ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความสนใจมากขึ้น

6. ควรให้เด็กมีโอกาสเปล่งเสียงออกมาบ้าง ขณะที่พูดกับเด็ก ผู้สอนพูดนำแล้วควรเว้นระยะให้โอกาสเด็กได้คิดที่จะออกเสียงโดยการหยุดพูดชั่วระยะหนึ่ง เช่น จะออกจากบ้านถามเด็ก "ไปไหม" เว้นระยะรอให้เด็กตอบ "ไป" เมื่อเด็กเริ่มเปล่งเสียงอ้อแอ้ จงให้เวลาเด็กได้ออกเสียง อย่าไปแย่งเด็กพูด พยายามอ่านใจเด็กว่าเขาอ้อแอ้เกี่ยวกับเรื่องอะไร และให้ผู้สอนพูดตามในเรื่องนั้น เพื่อกระตุ้นเด็กให้ลอกเลียนแบบการพูดของท่าน ถ้าเห็นว่าเด็กเริ่มแสดงอาการเบื่อหน่ายหรือไม่พอใจควรหยุดทันที เพราะถ้ารุกเร้าให้เด็กออกเสียงมากจนเกินไป จะทำให้เด็กไม่ต้องการส่งเสียงกับเราอีกในครั้งต่อไป

7. จงเป็นแบบอย่างในการพูดที่ดีให้แก่เด็ก เนื่องจากขณะที่เด็กพูด เด็กจะลอกเลียนแบบจากผู้ที่พูดกับเรา จงพูดให้ชัดเจน ใช้คำให้ถูกต้อง ถ้าพบว่าเด็กพูดไม่ชัดไม่ควรแสดงความเอ็นดูหรือพูดไม่ชัดตามเด็ก เพราะจะทำให้เด็กขาดแบบอย่างการพูดที่ชัดเจน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องพร่ำสอนให้เด็กพูดชัด ในขณะนั้น เพราะเด็กยังพูดให้ชัดเจนทันทีไม่ได้ เนื่องจากยังขาดทักษะและความคล่องแคล่วในการเคลื่อนไหวของปาก ล้ิน ในการสอนออกเสียง สระ พยัญชนะ ต่างๆ ให้ชัดเจน ควรรอให้เด็กมีคำศัพท์ ภาษา และพูดสื่อสารได้มากพอก่อน เพราะถ้ารีบฝึกแก้ไขให้เด็กพูดชัดหรือตำหนิเด็กบ่อยๆ จะทำให้เด็กโกรธและอาจหยุดพูดไปได้

8. อาจใช้โคลงกลอนหรือเพลง ช่วยกระตุ้นการพูดของเด็ก เพราะมีเนื้อร้อง ท่วงทำนอง จังหวะ คำคล้องจอง ที่กำหนดไว้แน่นอน เนื้อหาที่มีความหมายที่ง่ายต่อการเข้าใจ จะช่วยให้เด็กสนใจ และจำจำได้ง่าย ๆ เช่น ลูกเป็ดมันร้อง (ก๊าบ ก๊าบ) ลูกไก่มันร้อง (เจี๊ยบ เจี๊ยบ) ลูกหมาเห่า (บ๊อก บ๊อก) การร้องหรือท่องให้เด็กฟังบ่อยๆ หยุดเป็นช่วงๆ เพื่อให้เด็กต่อเติมคำสุดท้าย ในแต่ละวรรคก็เป็นวิธีที่ ทำให้เด็กรู้สึกพอใจ สนุกที่จะเปล่งเสียงพูดได้

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำตลอดเวลา คือ

1. พูดประกอบการทำกิจกรรมให้เด็กเรียนรู้ความหมายของคำพูด

2. สอนคำศัพท์และสอนพูดโดยให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสหลายๆส่วนในการรับรู้

3. ควรเริ่มต้นสอนคำเดี่ยวๆ เลือกคำที่เด็กสนใจและออกเสียงได้ง่ายก่อน 

4. พูดภาษาเดียว การใช้หลายภาษาจะทำให้เด็กสับสน

5. ให้ความสนใจและตอบสนองเมื่อเด็กพูดคำที่มีความหมายเพื่อให้เด็กเห็นประโยชน์และความสำคัญของการพูด

 

เนื้อหาจาก คู่มือฝึกพูด สำหรับผู้ปกครอง(ฉบับปรับปรุง) โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Copyright© 2014 HappyFamilyNan.com. All Rights Reserved