บทความ >> สำหรับพ่อแม่

คุยกับลูกวัยรุ่น

พ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่นหลายๆท่าน คงรู้สึกหนักอกหนักใจ เวลาคุยกับลูกวัยรุ่น
ว่าทำม้ายยย..คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง บ่นนิด เตือนหน่อย ก็หน้างอ ปึงปัง เถียงกลับอีกแน้!

แม้เราเองก็เคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน (หลายสิบปีก่อนนู่นนน..)
ก็พอจะเข้าใจนะ ว่าวัยรุ่นคิดอะไร รู้สึกยังไง(มั้ง?)
ทำไมวัยรุ่นยุคออนไลน์นี่ เข้าใจยากจริง..งงจุง?
ผมในฐานะวัยรุ่น เอ้ย..จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
ที่ผ่านการสู้รบกับเด็กวัยรุ่นมาหลายๆๆคนหลายๆๆสไตล์

ขอให้ข้อเสนอแนะในการคุยกับลูกวัยรุ่น ดังนี้ครับ

1. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกตั้งแต่เล็กๆ

หากความสัมพันธ์ของคุณกับลูกดีมาตั้งแต่ลูกเป็นวัยเด็ก สนิทกันดี
ลูกกล้าพูด กล้าคุย เชื่อฟังคุณ เท่านี้ก็มีชัยไปกว่าครึ่งครับ
แต่หากก่อนหน้านี้คุณกับลูกไม่สนิทกัน ไม่ค่อยมีเวลาด้วยกัน
ทะเลาะกัน อาจจะลำบากหน่อย

กรุงเทพฯไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด....
ความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกวัยรุ่นก็ต้องใช้เวลาฉันนั้น (ต้องกรุงโรมไม่ใช่เรอะ??)

เพราะวันนึงที่คุณลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เช่น
จากเดิมที่ไม่ค่อยคุยกับลูก กลับมาคุยกับเค้ามากขึ้น
ใหม่ๆ ลูกอาจจะเริ่มระแวง ว่าพ่อแม่จะมาจับผิดอะไรตรูว้า แม่ดราม่าไปปะ?
ดังนั้นต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงครับ

2. ปรับทัศนคติเวลาคุยกับลูกวัยรุ่น

เราคุยเพื่อจะได้ “เข้าใจ” ลูก ว่าเขารู้สึกนึกคิดอะไร เราจะช่วยเหลือชี้แนะอะไรได้บ้าง
แต่ไม่ใช่การคุยเพื่อ “จับผิด ควบคุม”

ถ้าคุณเริ่มต้นแบบจับผิด ควบคุมแล้วละก็ คุณจะแผ่รังสี ultramom ออกมาโดยไม่รู้ตัวครับ
ทั้งภาษากายและคำพูด ลูกจะสัมผัสกับรังสีนี้ได้
และการสนทนาก็จะจบลงก่อนเวลาอันควร
เพราะจะลงเอยด้วยการโต้เถียงกัน หรือลูกไม่อยากจะฟังคุณ

เชิญครับ.....คุณ..ไม่ได้ไปต่อ!!!
(หมายเหตุ ไม่ต้องงกับชื่อรังสีนะครับ คิดเอาเองเมื่อตอนพิมพ์นี่แหละครับ)

3. ทำความเข้าใจกับคาดหวังของตนเอง

ถึงแม้ว่านอกบ้าน คุณจะให้คำปรึกษากับเพื่อนๆเรื่องการดูแลลูกวัยรุ่นจนสำเร็จมานักต่อนัก
แต่กับลูกตัวเองดันจัดการไม่ได้
(เคยมีอาจารย์ฝ่ายปกครอง อาจารย์แนะแนว มาหาผมเรื่องทำนองนี้เหมือนกัน)
ไม่ต้องเศร้าหรือรู้สึกผิดเกินไปครับ เป็นเรื่องปกติ
เพราะรูปแบบความสัมพันธ์แตกต่างกันและความคาดหวังต่อลูกในฐานะพ่อแม่ ย่อมจะมากกว่าปกติ

ดังนั้น ลองตั้งสติแล้วถอยออกมาวงนอกดูครับ
ว่าถ้าลูกเพื่อนเป็นแบบลูกเรา เราจะแนะนำให้เขาทำอย่างไร แล้วลองทำตามนั้นดูครับ

4. อย่าปล่อยให้โอกาสดีๆลอยนวล

เมื่อไหร่ก็ตาม ที่ลูกเริ่มต้นการคุยขอคำปรึกษากับคุณก่อน
อย่าปล่อยให้โอกาสแบบนี้ หลุดลอยไปเด็ดขาดดดดด...

ธรรมชาติของวัยรุ่นมักจะเลือกที่จะปรึกษาเพื่อน
การที่เค้ายอมลดศักดิ์ศรีมาขอคำชี้แนะจากคุณ แปลว่าเป็นเรื่องสำคัญ
ไม่ควรปล่อยผ่านไป ตัดรอน หรือไม่สนใจ
เพราะนั่น! อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่เค้าจะยอมคุยกับคุณเพื่อขอคำปรึกษา
เพราะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่สนใจและพึ่งพาไม่ได้

คงไม่ใช่เรื่องดีนัก ถ้าลูกปรึกษาแต่กับเพื่อนที่มีประสบการณ์อ่อนด้อยพอๆกัน
หรือถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดี และตัดสินใจอะไรโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ทั้งที่โอกาสจะให้คำแนะนำดีๆกับลูก มาถึงมือเราแล้วแท้ๆ

5. “ตั้งใจฟัง...แล้วตั้งคำถาม” คือหัวใจสำคัญกับการคุยกับลูกวัยรุ่น
อย่าเพิ่งคิดว่าจะต้องพูดอะไร ให้เด็ดๆ ตรึงใจลูกเหมือน status ใน facebook
ให้ตั้งใจฟัง (active listening) ติดตามกับลูกที่อยู่ตรงหน้า แล้วทุกอย่างจะมาเอง
สิ่งที่เน้นนนนนน...คือ ฟังด้วยใจเป็นกลาง ไม่อคติ
และฟังให้จบ ๆๆ แล้วจะบวกจะลบ ก็ตามใจ (// คลอเพลงแช่ม แช่มรัมย์ไปด้วย)

ฟังด้วยใจเป็นกลาง ไม่อคติ….
เพราะถ้าคุณตั้งแง่กับเค้าตั้งแต่เริ่ม คุณจะแผ่รังสีออกมาแบบข้อ 2
(นึกซะว่ากำลังฟังลูกเพื่อนพูดอยู่)

ฟังให้จบ…..
พ่อแม่ต้องอดทนอดกลั้นข่มใจที่จะไม่แทรกลูกก่อนลูกพูดจบ
แม้เราจะฟังแล้วรู้สึกว่าไม่เข้าท่าก็ตาม
เพราะถ้าลูกพูดประโยคนึง คุณก็แทรกทีนึง ไปรีบตัดสินว่าถูกผิด
ลูกก็จะเกิดอาการเซ็งเป็ด และไม่อยากจะปรึกษาอะไรพ่อแม่อีก

บางเรื่องที่ลูกถาม อาจเป็นเรื่องที่ชวนตื่นเต้นหวาดเสียวและพ่อแม่รับไม่ค่อยได้ เช่น
มีเพื่อนชายขอเป็นแฟนทำยังไงดี อยากเจาะหูสักคิ้วย้อมผม
อยากขอนุ่งสั้นแบบใบเตยบ้าง ฯลฯ
ยิ่งต้องพยายามข่มใจครับ ก่อนจะเบรกลูก ถ้าทนไม่ไหว เบรกการพูดของตัวเองก่อนครับ
(อนุญาตให้ขอเวลานอกไปกรี๊ดในห้องน้ำ ต่อยตุ๊กตาหมีได้ครับ)

ถ้าฟังจนจบ คุณอาจจะรู้จักลูกได้มากขึ้นกว่าเดิม
อาจจะได้ยินอะไรดีๆ(หรือไม่ดี)จากลูกที่คุณเองคาดไม่ถึงก็ได้

พ่อแม่มักเคยชินกับการสอน การบอกลูกตอนสมัยลูกเป็นเด็ก
แต่พอลูกเป็นวัยรุ่น เราต้องกลับข้างจากผู้พูดมาเป็นผู้ฟังครับ

การสอนที่ช่วยให้ลูกเกิดการเรียนรู้
ต้องมาจากการ "ตั้งคำถาม" ให้ลูกคิดครับ
ไม่ใช่การมาจากการบรรยาย เทศนา หรือบ่น

อะไรที่ลูกคิดเอง จะเกิดความตระหนัก และทำตามได้มากกว่ามีคนบอกให้ทำ
แรงต่อต้านจะน้อยลง เพราะรู้สึกไม่เสีย self ครับ

#หมอไปป์_แฮปปี้คิดส์
จาก page ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย

Copyright© 2014 HappyFamilyNan.com. All Rights Reserved