บทความ >> วัยเด็ก

มารู้จักโรคสมาธิสั้นกันเถอะ

โรคสมาธิสั้น ( Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD)

โรคสมาธิสั้น เป็นกลุ่มอาการ ที่เกิดจากความผิดปกติ ในการทำงานของสมอง ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน (หรือการทำงาน) หรือการเข้าสังคมกับผู้อื่นอย่างชัดเจน
กลุ่มอาการนี้ประกอบด้วย
อาการขาดสมาธิ เด็กจะมีลักษณะวอกแวกง่าย ขาดความตั้งใจในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ต้องใช้ความคิด เด็กมักจะแสดงอาการเหม่อลอยบ่อยๆ ฝันกลางวัน ทำงานไม่เสร็จ ผลงานมักจะไม่เรียบร้อย ตกๆ หล่นๆ เด็กมักจะมีลักษณะ ขี้ลืม ทำของใช้ส่วนตัวหายเป็นประจำ มีลักษณะเหมือนไม่ตั้งใจฟังเวลาพูดด้วย เวลาสั่งให้เด็กทำงานอะไร เด็กมักจะลืมหรือทำครึ่งๆ กลางๆ อาการนี้มักจะต่อเนื่องถึงวัยผู้ใหญ่
อาการซน เด็กจะมีลักษณะซน ยุกยิก นั่งนิ่งๆ ไม่ค่อยได้ ต้องลุกเดินหรือขยับตัวไปมา มือไม้อยู่ไม่สุข ชอบจับโน่นจับนี่ ชอบปีนป่าย เล่นเสียงดัง เล่นผาดโผน หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย มักประสบอุบัติเหตุบ่อย ๆ จากความซน และความไม่ระมัดระวัง พูดมาก พูดไม่หยุด
อาการหุนหันพลันแล่น เด็กจะมีลักษณะ วู่วาม ใจร้อน ทำอะไรไปโดยไม่คิดก่อนล่วงหน้า ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ขาดความระมัดระวัง เวลาต้องการอะไรก็จะต้องให้ได้ทันที รอคอยไม่ได้ เวลาอยู่ในห้องเรียน มักจะพูดโพล่งออกมา โดยไม่ขออนุญาตครูก่อน มักตอบคำถามโดยที่ฟังคำถามยังไม่ทันจบ ชอบพูดแทรก เวลาที่คนอื่นกำลังคุยกันอยู่ หรือกระโดดเข้าร่วมวงเล่นกับเด็กคนอื่นโดยไม่ขอก่อน
ผู้ป่วยจะต้องแสดงอาการในสถานการณ์ หรือสถานที่อย่างน้อย 2 แห่งขึ้นไป เช่นที่โรงเรียนและที่บ้าน
สาเหตุ
โรคสมาธิสั้นมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยด้านชีวภาพและสภาพแวดล้อมที่อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งนี้เชื่อว่า สาเหตุสำคัญเกิดจากปัจจัยด้านพันธุกรรมที่น่าจะเกี่ยวข้องกับยีน นอกจากนี้พบว่าสารสื่อประสาทในสมองมีการทำงานผิดปกติ ส่วนการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เด็กป่วย แต่อาจเป็นปัจจัยเสริมให้อาการของเด็กสมาธิสั้นเป็นรุนแรงขึ้น

เด็กที่สมควรได้รับการประเมินว่าเป็นโรคสมาธิสั้น หรือไม่ มีลักษณะดังนี้
1.    มีอาการหลักของโรคสมาธิสั้น ได้แก่ ขาดสมาธิ ซน อยู่ไม่นิ่ง และหุนหันพลันแล่น
2.    มีปัญหาการเรียน เช่น ผลการเรียนไม่ดีหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ขาดความรับผิดชอบในการทำการบ้าน ทำงานที่ได้รับมอบหมายในห้องเรียนหรือการบ้านไม่เสร็จ เหม่อลอยในเวลาเรียน หรือทำการบ้าน เป็นต้น
3.    มีปัญหาพฤติกรรม เช่น ดื้อ ต่อต้าน ก้าวร้าว เกเร ไม่เชื่อฟัง แหย่เพื่อน แกล้งเพื่อน รบกวนผู้อื่นในห้องเรียน พฤติกรรมเสี่ยงอันตราย โกหก เป็นต้น
4.    มีปัญหาด้านอารมณ์ เช่น ใจร้อน หงุดหงิดง่าย อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ซึมเศร้า วิตกกังวล ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองต่ำ เป็นต้น
5.    ปัญหาด้านสังคม เช่น ทะเลาะกับคนอื่นบ่อย เข้ากับเพื่อนได้ยาก เป็นต้น


การรักษา
1.    การรักษาด้วยยา ยาที่ใช้เป็นยาที่ช่วยปรับสารเคมีในสมองโดยตรง จะช่วยทำให้ผู้ป่วยสามารถจดจ่อได้นานขึ้น ลดการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้เด็กควบคุมสมาธิตนเองได้ดีขึ้น
2.    การปรับพฤติกรรมและปรับสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ปกครอง และ โรงเรียน ต้องร่วมมือกันดูแล


ยาที่ใช้รักษาหลัก เป็นยากลุ่มที่ช่วยปรับสารเคมีในสมอง เพื่อให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น จดจ่อได้นานมากขึ้น ซึ่งมีทั้งตัวที่ออกฤทธิ์สั้น และ ออกฤทธิ์ยาว กล่าวคือ ตัวที่ออกฤทธิ์สั้น จะออกฤทธิ์ประมาณ 4 ชั่วโมง ข้อดีคือสามารถเลือกปรับขนาดยาได้อย่างเหมาะสมตามอาการและช่วงความจำเป็นในการใช้สมาธิ ส่วนยาที่ออกฤทธิ์ยาว จะออกฤทธิ์ประมาณ 12 ชั่วโมง ข้อดีคือลดปัญหาการต้องกินยาบ่อย และลดปัญหาการลืมกินยาบ่อย ๆ

อาการข้างเคียงของยา ที่อาจเกิดขึ้นได้ ได้แก่ อาการปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร หรือเกิดอาการแพ้ยาได้ หากมีอาการข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับยาต่อไป
 

Copyright© 2014 HappyFamilyNan.com. All Rights Reserved